The Dressmaker Bad joke หรือ ภาพยนตร์ตลกร้ายนั้น เป็นอีกหนึ่งแนวของภาพยนตร์ เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า ส่วนใหญ่แล้วภาพยนตร์แนวนี้จะมีเนื้อหาที่ค่อนข้างพลิกแพลง และเล่นตลกกับคนดูได้ตลอดเวลาจนไม่อาจคาดเดาเนื้อหาได้ กลายเป็นความตลกที่ผู้รับชมนั้นถึงกับขำไม่ออกเลยในบางที แต่มันก็ถือเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของภาพยนตร์แนวนี้
การที่ผู้สร้าง พยายามทำให้ภาพยนตร์มีจุดหักมุมต่างๆ รวมถึงการยำเละเนื้อเรื่องจนผู้รับชมรู้สึกว่ากำลังถูกผู้สร้างภาพยนตร์กำลังเล่นกับความรู้สึกของตนอยู่ แต่หากมองในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว ชีวิตของคนเราเองก็มีเรื่องราวตลกร้ายเกิดขึ้นมากมาย มันจึงเป็นภาพยนตร์แนวที่สามารถสะท้อนชีวิตจริงออกมาได้อย่างตรงไปตรงมา ว่าชีวิตของคนเรานั้นไม่แน่นอนเสมอไป และไม่ใช่ทุกเรื่องราวที่จะประสบความสำเร็จ
เช่นเดียวกับ ภาพยนตร์เรื่อง The Dressmaker ที่มีชื่อไทยสุดอลังการว่าแค้นลั่น ปังเวอร์ หากเราไม่รู้ชื่อในภาษาไทยแล้วเราก็เราคงจะเดาว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ ดีไซเนอร์ และแฟชั่น แต่ความจริงแล้วภาพยนตร์บอกเล่าถึงเรื่องราวของการแก้แค้น ผ่านมุมมองของแฟชั่นและความสวยงามของเสื้อผ้า ความตลกร้ายของภาพยนตร์เรื่องนี้เริ่มตั้งแต่การที่ทิลลี่ ตัวละครเอกซึ่งรับบทโดยนักแสดงมากฝีมืออย่างเคท วินสเล็ต เลยถามกับมอลลี่ มารดาของตนเองว่า “หนูเคยฆ่าใครหรือเปล่า” ซึ่งเราจะเล่าถึงรายละเอียดกันต่อจากนี้ หากใคร ที่ยังไม่เคยรับชมภาพยนตร์ เรื่องนี้มาก่อนแล้วไม่อยากจะเสียอรรถรสขอเตือนย่อหน้าต่อไปนี้เราจะเดินหน้าสปอยเรื่องราวพร้อมกับวิเคราะห์กันอย่างเต็มที่
ทิลลี่ ตัวละครเอกของเรื่อง เป็นหญิงสาวที่มีอายุราว 30 ปี เธอกลับมายังบ้านเกิดอีกครั้ง ที่หมู่บ้านเล็กๆ ในเมืองดันกาตาร์ ประเทศออสเตรเลีย ที่ๆ เธอนั้นเคยถูกเนรเทศออกมาเมื่อ 25 ปีที่แล้ว บัดนี้ เธอกลายเป็นดีไซเนอร์ ที่ประสบความสำเร็จในอาชีพและเคยได้ร่วมงานกับดีไซเนอร์ชื่อดังมากมาย
เธอได้พบกับ จ่าฟาร์เร็ต ตำรวจที่เคยอยู่ในเหตุการณ์การขับไล่เธอออกจากหมู่บ้าน ดังนั้นเมื่อเขาพบเธอเข้าเขาจึงรู้สึกตกใจเป็นอย่างมากไม่ว่าจะเป็นเพราะการที่เธอกลับมายังหมู่บ้านแห่งนี้หรือแม้แต่เสื้อผ้าที่เธอสวมใส่ที่มีความสวยงามเป็นอย่างมาก
แต่พอมาถึงที่บ้านแล้ว เธอกลับพบว่า แม่ของเธอ ที่มีชื่อว่า มอลลี่ นั้นกลับจำเธอไม่ได้ แม้แต่น้อย แถมบ้านยังเละเทะ สกปรกจนไม่น่าอยู่ หลังจากที่จัดการทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ท่ามกลาง ความไม่ไว้วางใจ ของมอลลีที่ยังจำลูกสาวตัวเองไม่ได้
ทิลลี่ก็ได้ถามแม่ ถึงเรื่องราวในอดีตว่าเธอจำใครได้ หรือไม่ไม่ว่าจะเป็นครูสมัยเด็ก ของเธอ ที่ชื่อว่าเฮริดีน เด็กชายร่วมห้องยางสจ๊วด เภสัชกรหลังค่อมอัลมาแน็ก และเพตตี้แมน นายกรัฐมนตรีประจำเมือง มอลลี่ไม่สามารถจำใครได้เลย
และยังมีความสงสัยอีกว่าทิลลี่กลับมายังหมู่บ้านแห่งนี้ทำไม ทิลลี่จึงตอบไปว่าเธอต้องการให้มอลลี่จำเรื่องราวทั้งหมดได้เพื่อที่เธอจะได้รู้ว่าเธอเคยฆ่าใครมาก่อนหรือไม่ มอลลี่ที่สติไม่ดีอยู่แล้ว พอได้ยินทิลลี่พูดเรื่องการฆ่า ก็สติแตกทันที ทิลลี่ พยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ชาวเมืองยอมรับเธอท่ามกลางความช่วยเหลือจากเท็ดดี้ ชายหนุ่มเพื่อนบ้าน ที่คอยดูแลมอลลี่มาโดยตลอด ตอนที่ทิลลี่ไม่อยู่
หลังจากที่เธอนั้น ช่วยให้เพื่อนวัยเด็กอย่างเกอร์ทูธสมหวังในความรักกับวิลเลี่ยม ด้วยฝีมือการดีไซน์และตัดชุดของเธอ จากนั้นคนทั้งหมู่บ้านก็เริ่มหันมาชื่นชอบเธออีกครั้ง และขอให้เธอตัดชุดให้พวกเขา หมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้จึงเต็มไปด้วยหญิงสาวที่แต่งตัวด้วยชุดที่มีความสวยงาม ราวกับอยู่ในแฟชั่นโอกูตูร์
ในขณะที่ทุกคนกำลังจะให้การยอมรับเธออยู่แล้วแต่สุดท้ายก็เกิดเรื่องราวขึ้นมากมายที่ทำให้ชีวิตเธอพลิกผันครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ว่าจะเรื่องอะไรในวัยเด็กที่เธอเคยถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตกร เรื่องราวความรักของเธอที่โชคชะตาเล่นตลกจนไม่อยากให้อภัยได้ และการตัดสินใจครั้งสุดท้ายที่เธอจะแก้แค้นหมู่บ้านแห่งนี้ที่ทำกับเธอไว้อย่างเจ็บแสบ
วิเคราะห์บทและเนื้อหาในภาพยนตร์เรื่อง The Dressmaker
ในภาพยนตร์เรื่องนี้ จะบอกว่าทิลลี่เป็นเหยื่อ ก็ไม่ผิดมากนัก ไม่ว่าเวลาจะผ่านไป นานเท่าไหร่ทุกครั้งที่เธออยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้เธอก็มักจะเป็นฝ่ายที่โดนเอาเปรียบ และรังแกอยู่เสมอ แม้แต่ความสามารถด้านการตัดเย็บเสื้อผ้าของเธอที่ทำให้ผู้คนมีความสุข และสมหวังมากมายก็ไม่ช่วยให้เธอได้รับความรัก และการยอมรับจากหมู่บ้านแห่งนี้แม้แต่น้อย
เริ่มต้นตั้งแต่เรื่องประเด็นของครอบครัว เธอนั้นต้องอาศัยอยู่กับแม่เพียงลำพังโดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพ่อของตนคือใคร และที่น่าเจ็บใจไปมากกว่านั้นคือคนที่เป็นพ่อของเธอนั้นเป็นตัวการที่ทำให้เธอต้องออกไปจากหมู่บ้านและทำให้แม่ของเธอกลายเป็นหญิงสติฟั่นเฟืองในที่สุด เพียงเพราะเธอนั้นถูกใส่ร้ายจากครูที่ไม่มีความเป็นธรรมและไม่มีความยุติธรรม
โดยการป้ายข้อหาฆาตกรให้กับเด็กหญิงอายุเพียง 10 ขวบเท่านั้น ต่อมาจึงเป็นประเด็นภายในโรงเรียน ทิลลี่มักถูกสจ๊วดแกล้งเป็นประจำ แต่ครูก็ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือเธอทำยังเห็นดีเห็นงามกับการรังแกนั้นอีกด้วย เพื่อนในโรงเรียนต่างพยายามเอาใจสจ๊วดเพราะเขานั้นเป็นลูกชายของนายกประจำเมือง
การที่เขาตายไป ก็เป็นเพราะเขาทำตัวเอง จากการแกล้งทิลลี่ แต่เขาก็ยังอุตส่าห์ แกล้งเธอได้เป็นครั้งสุดท้าย จนเธอถูกเนรเทศออกจากเมือง จ่าฟาร์เร็ต เปรียบเสมือน ตัวละครที่เป็นตัวแทน ข้าราชการที่รู้ความจริงทุกอย่าง แต่น้ำท่วมปาก ไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจากก้มหน้าทำตามคำสั่งของผู้มีอำนาจเท่านั้น
ไม่เพียงเท่านั้นเขายังเป็นตัวแทนของ LGBT ที่ต้องปกปิดตัวตน เพื่อรักษาหน้าที่การงานเอาไว้ และสุดท้ายคือเรื่องราวความรักของทิลลี่ มีอยู่หนึ่งบทสนทนาที่ทิลลี่เอ่ยกับแม่ของเธอว่า เธอนั้นเคยเสียลูกมาก่อน อาจเป็นไปได้ว่าครั้งหนึ่งเธอเคยมีครอบครัวมาแล้วแต่หลังจากที่ต้องสูญเสียลูกไปจากการแท้งเธอก็เลิกกับสามี
ด้วยเรื่องราวทั้งหมดที่ผ่านมาในชีวิตของเธอจนทำให้เธอคิดว่าตนเองนั้นเป็นผู้หญิงที่ถูกสาป ไม่ว่าใครที่เข้ามาอยู่ในวงจรชีวิตของเธอนั้นก็มักจะมีจุดจบที่ไม่สวยงามอยู่เสมอ จนเธอได้พบกับเท็ดดี้ ในตอนแรกนั้นเธอพยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะปิดกั้นไม่ให้เขาเข้ามาในชีวิตได้ แต่สุดท้ายด้วยความดีของเขาก็ทำให้เธอเปิดประตูรับเขาเข้ามาเอาไว้อยู่ในหัวใจในที่สุด แต่แล้วโชคชะตาก็เล่นตลกด้วยการพรากเขาออกไปจากเธอตลอดกาลเพียงเพราะเธอไม่ยอมรับว่าเธอนั้นไม่ได้เป็นผู้หญิงที่ถูกสาป เหตุการณ์นี้ยิ่งตอกย้ำทิลลี่หนักขึ้นไปอีก ทุกคนในหมู่บ้านหันหลังให้กับเธออีกครั้ง สุดท้ายเธอจึงตัดสินใจแก้แค้นด้วยวิธีการที่เจ็บแสบที่สุด