รีวิว หนัง Ma Rainey’s Black Bottom Netflix
รีวิว หนัง Ma Rainey’s Black Bottom Netflix ภาพยนตร์ตำนานเพลงบลูส์ที่สอดแทรกเรื่องราวการเหยียดสีผิว
ย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงเวลาที่โลกยังไม่ได้ตระหนักถึงความเท่าเทียมในการปฏิบัติกับทุกคนที่ต่างเชื้อชาติและสีผิวอย่างเท่าเทียมกัน ความลำบากจึงตกอยู่กับชาวแอฟริกันอเมริกันผิวสีที่ไม่ว่าจะมีความสามารถเท่าไร สุดท้ายพวกเขาก็จะถูกปฏิบัติอย่างต้อยต่ำอยู่เสมอ
ไม่เพียงแต่ชาวผิวสีเท่านั้นที่ถูกเหยียดหยาม ตัดภาพมาในปัจจุบันที่เชื้อไวรัส covid-19 แพร่กระจายไปทั่วทั้งโลกโดยมีต้นตอมาจากประเทศจีนนั้นก็ทำให้คนเอเชียในต่างประเทศหลายคนถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมจากการเหยียดสีผิวและเชื้อชาติจนทำให้บางคนถึงขั้นเสียชีวิตหรือต้องสูญเสียสัตว์เลี้ยงที่รักไปตลอดกาล
แม้ว่าสถานการณ์และการตระหนักรู้เรื่องการเหยียดสีผิวรวมไปถึงเชื้อชาติจะดีขึ้นจากแต่ก่อน แต่การจะให้มันหายไปเลยจากโลกใบนี้คงต้องใช้เวลาอีกนาน และมันก็สร้างอุปสรรคให้กับกลุ่มคนผิวสีและกลุ่มคนเอเชียเป็นอย่างมากในการที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง
หากพูดถึงชนชาติที่มีความเก่งกาจด้านดนตรีมากที่สุดอีกหนึ่งชนชาติก็คงจะหนีไม่พ้นชนชาติแอฟริกัน พวกเขานั้นมีความสามารถในการร้อง การประพันธ์ดนตรี และการเต้นในระดับสูง ดนตรีหลากหลายแนวมาจากชาวผิวสีและมันก็ได้รับความนิยมไปทั่วทั้งโลก แต่เชื่อหรือไม่ว่าในอดีตเคยมีนักร้องหญิงชาวผิวสีคนหนึ่งต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายเพื่อทำตามความฝันในการเป็นนักร้อง
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์เรื่อง Ma Rainey’s Black Bottom ภาพยนตร์ที่จะเปิดตำนานเพลงบลูส์ที่ดัดแปลงมาจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ของเจ้าแม่เพลงบลูส์ชาวผิวสี ดัดแปลงมาจากบทละครเวทีที่ได้รับรางวัล พอนำเสนอในรูปแบบของภาพยนตร์มันจึงออกมายอดเยี่ยมจนสามารถคว้ารางวัลออสการ์ได้ 2 สาขาด้วยกันประกอบไปด้วยสาขาแต่งหน้าและทรงผมยอดเยี่ยมและสาขาเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม
เรื่องราวในภาพยนตร์เรื่อง Ma Rainey’s Black Bottom
Ma Rainey’s Black Bottom เล่าถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปี 1927 ในเมืองชิคาโกที่เต็มไปด้วยผู้คนมากมายและงานศิลปะไม่เว้นแม้แต่ดนตรี เรนีย์เป็นหญิงผิวสีที่มีความสามารถโดดเด่นด้านการร้องเพลงจนทำให้เธอนั้นได้รับการขนานนามว่าเธอเป็นเจ้าแม่ของเพลงบลูส์ เวลาร้องเพลงประเภทดังกล่าวที่จำเป็นจะต้องมีวงดนตรีแบ็คอัพเป็นเครื่องดนตรีสากล ซึ่งเธอเองก็มีวงดนตรีแบ็คอัพของตัวเองเช่นเดียวกัน
แต่ปัญหาก็อยู่ในวงดนตรีของเธอเพราะหนึ่งในมือทรัมเป็ตหนุ่มอย่างลีวีเป็นคนที่เต็มไปด้วยปัญหาและความทะเยอทะยาน แม้ว่าเขานั้นจะเป็นคนที่ทั้งมีความสามารถ มีไฟแรงที่อยากจะพัฒนาและขับเคลื่อนวงการดนตรี และยังเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ แต่เพราะความมั่นใจจนเกินพอดีของเขาทำให้การบันทึกเสียงเต็มไปด้วยปัญหามากมาย
นอกจากปัญหาภายในแล้วยังต้องพบเจอกับปัญหาภายนอกอย่างผู้บริหารที่มีอำนาจ ซึ่งเป็นคนผิวขาวนั้นต้องการที่จะใช้อำนาจของตนเองเพื่อควบคุมการทำงานของหญิงสาวซึ่งเป็นนักร้องระดับเจ้าแม่ ไม่มีใครรู้ว่าเขานั้นทำเพื่อแสดงอำนาจหรือต้องการจะควบคุมเพื่อให้งานออกมาดีกันแน่ แต่มันสร้างปัญหาอย่างแน่นอน
และถึงแม้ว่านักร้องหญิงผู้นี้จะเต็มไปด้วยความสามารถและพรสวรรค์ แต่ถ้าเธอนั้นเป็นชาวผิวสีทำให้เธอต้องพบกับการเหยียดเชื้อชาติและสีผิวนับครั้งไม่ถ้วน แต่เธอนั้นก็ยืนอย่าจนได้รับการยอมรับว่าเป็นเจ้าแม่ของเพลงแนวบลูศื ที่ไม่ว่าใครในยุคนั้นก็ไม่อาจเทียบความสามารถในการร้องเพลงอย่างนี้กับเธอได้
เธอนั้นต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมายตลอดช่วงชีวิตของเธอ สุดท้ายแล้วการอัดเสียงในครั้งนี้จะเป็นอย่างไร เธอจะสามารถก้าวข้ามผ่านวิกฤตและอุปสรรคที่ต้องพบเจอได้หรือไม่ สามารถติดตามรับชมได้ในภาพยนตร์
ความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่อง Ma Rainey’s Black Bottom
Ma Rainey’s Black Bottom เป็นภาพยนตร์ที่เล่าย้อนไปในชิคาโกเมื่อเกือบ 100 ปีที่แล้ว ทำให้งานภาพที่ออกมานั้นเต็มไปด้วยเสน่ห์มากมายไม่ว่าจะเป็นฉาก การแต่งตัว ทรงผม และการแต่งหน้า หากใครที่ชื่นชอบภาพยนตร์เรื่อง The dressmaker แล้วก็น่าจะชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยเช่นเดียวกัน เพราะถึงแม้ว่ามันจะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับแต่ในเรื่องของแฟชั่นก็จัดเต็มไม่น้อย
ไม่เพียงเท่านั้นภาพยนตร์เรื่องนี้ยังเป็นภาพยนตร์ส่งท้ายของนักแสดงหนุ่มอย่างแชดวิก โบสแมน นักแสดงหนุ่มที่จากโลกนี้ไปด้วยโรคร้าย แม้ว่าเราอาจจะไม่ได้เห็นเขาปรากฏตัวในภาพยนตร์เรื่อง Black Panther 2 เนื่องจากทางผู้สร้างตัดสินใจที่จะไม่ทำงาน CG เพื่อให้นักแสดงหนุ่มผู้นี้กลับมามีชีวิตโลดแล่นอยู่ในภาพยนตร์อีกครั้ง แต่ในภาพยนตร์เรื่องนี้เราจะได้รับชมการแสดงของเขาที่มากไปด้วยฝีมือจนทำให้เราเชื่อได้ว่าเขานั้นเป็นนักทรัมเป็ตที่เต็มไปด้วยความสามารถและปัญหาอย่างแท้จริง
ไม่เพียงเท่านั้นภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้สะท้อนถึงประเด็นการเหยียดสีผิวและเชื้อชาติในเมื่อกว่า 100 ปีที่แล้วที่ถึงแม้ว่าจะมีการผลักดันมากแค่ไหนก็ตามสุดท้ายแล้วในปัจจุบันก็ยังคงมีผู้คนหลงเหลืออยู่ในบางส่วนที่ยังคงมีพฤติกรรมการเหยียดผิวและเชื้อชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่เรานั้นจะต้องสร้างความตระหนักกันต่อไป
ตัวอย่างหนัง Ma Rainey’s Black Bottom Netflix
หนัง Ma Rainey’s Black Bottom Netflix
ไม่ใช่เป็นแค่หนังเรื่องสุดท้ายของแชดวิก โบสแมน (Chadwick Boseman) ‘Ma Rainey’s Black Bottom’ ยังเป็นงานล่ารางวัลให้นักแสดงหนุ่มที่หลาย ๆ คนรู้จักจากหนังซูเปอร์ฮีโรของมาร์เวล ‘Black Panther’ ที่เรื่องนี้รับบทเป็นลีวี (Leevee) มือทรัมเป็ตเจ้าปัญหาในวงดนตรีแบ็กอัปของมา เรนีย์ (Ma Rainey) เจ้าแม่เพลงบลูส์ ซึ่งได้ไวโอลา เดวิส (Viola Davis) เจ้าของออสการ์สาขานักแสดงสมทบหญิงจาก ‘Fences’ มาเล่นอย่างสมบทบาท จนเข้าชิงรางวัลอย่างต่อเนื่องไม่ต่างไปจากนักแสดงชายรุ่นน้องที่จากไป
แต่ที่แตกต่างก็คือ มา เรนีย์ ของเดวิส มีตัวตน เป็นเจ้าแม่เพลงบลูส์ตัวจริง ส่วนลีวีของโบสแมน เป็นตัวละครที่แต่งขึ้นมา เช่นเดียวกับเรื่องราวของหนัง ยกเว้นบทเพลงในเรื่อง เช่น “Ma Rainey’s Black Bottom” ที่มีจริง ๆ ซึ่งแต่งขึ้นเพื่อสนองการเต้นรำยุค 1920s ที่เรียกว่า “แบล็ก บ็อตทอม” (Black Bottom) ที่กำเนิดจากชุมชนคนผิวดำทางใต้ของสหรัฐอเมริกา แล้วพอกลายเป็นที่นิยม ศิลปินต่างก็มีเพลง “Black Bottom” ของตัวเอง โดยมาบันทึกเสียงเพลงนี้ในปี 1927
หนัง ‘Ma Rainey’s Black Bottom’ สร้างจากบทละครชื่อเดียวกันของ ออกัสต์ วิลสัน (August Wilson) เมื่อปี 1982 ซึ่งเป็นหนึ่งในละครสิบเรื่องของละครเวทีซีรีส์รางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer Prize) ที่เรียกว่า The Pittsburgh Cycle หรือ the American Century Cycle โดยเนื้อหาว่าด้วยชีวิตคนแอฟริกันอเมริกันในแต่ละทศวรรษตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 หนึ่งในละครเวทีชุดนี้ที่ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ก็คือ ‘Fences’ ที่นำแสดงโดยเดวิสและเดนเซล วอชิงตัน (Denzel Washington) ผู้อำนวยการสร้างหนังทั้งสองเรื่อง แล้วในละครเวทีชุดนี้ มีมา เรนีย์ เท่านั้นที่มีตัวตนจริง ๆ ในโลกใบนี้
แองเจลา เดวิส (Angela Davis) นักวิชาการและนักรณรงค์ เขียนไว้ในหนังสือ ‘Blues Legacies and Black Feminism’ ว่า เพลงของมา “มีลักษณะของการชื่นชมสิทธิในการจัดการกับตัวเองของผู้หญิง โดยมีขอบเขตที่กว้างขวาง และไม่เป็นที่ปรารถนาเช่นเดียวกับเพศชาย” แล้วยังไม่กลัวที่จะเปิดเผยมุมมืดของชีวิต พูดถึงประสบการณ์จริงของผู้คน “เพลงบลูส์ของมา เรนีย์ มีเรื่องราวที่เรียบง่าย, ตรงไปตรงมา ว่าด้วยความรักที่ผิดหวัง, ความสำส่อน, การสำมะเลเทเมา, การผจญภัยจากการเดินทาง, ชีวิตการทำงาน และแก๊งตามถนนที่ติดคุก, เวทย์มนต์และเรื่องงมงาย พูดให้สั้นๆ ก็คือ เรื่องในภาพรวมของคนแอฟริกันอเมริกัน ที่เป็นไปในยุคหลังการฟื้นฟู” วิลเลียม บาร์โลว์ (William Barlow) เขียนไว้ในหนังสือ ‘Looking Up at Down: The Emergence of Blues Culture’
ยิ่งไปกว่านั้นเพลงของมา ยังเผยความสนใจของเธอที่มีต่อทั้งชายและหญิงในเพลง จนสื่ออย่าง Rolling Stone ยกให้เธอเป็น สัญลักษณ์ (Icon) ของคนรักร่วมเพศ แม้มาไม่เคยแสดงออกให้รับรู้ทั่วกันว่าเป็นไบเซ็กชวลก็ตาม ใน “Prove It On Me Blues” เพลงดังของเธอเมื่อปี 1928 เนื้อหาท่อนหนึ่งบอกเป็นนัย ๆ ว่า “Went out last night with a crowd of my friends. They must’ve been women, ’cause I don’t like no men” ซึ่งพาดพิงถึงกิจกรรมทางเพศกับแดนเซอร์ที่มาเธอจัดขึ้น และทำให้เธอถูกจับที่ชิคาโกในปี 1925 ก่อนได้รับการประกันตัวในเช้าวันรุ่งขึ้นโดยสมิธ
ภาพโฆษณาเพลงนี้ที่พาราเมาต์ทำ เป็นภาพของเรนีย์ “สวมหมวกของผู้ชาย ใส่เสื้อกั๊ก แจ็กเก็ต ผูกไท เพื่อเรียกร้องความสนใจจากหญิงสาวหุ่นดีสองคน” เซนต์. สุกี เดอ ลา ครัวซ์ (St. Sukie de la Croix) เขียนไว้ในหนังสือ ‘Chicago Whispers: A History of LGBT History Before Stonewall’
แต่บทบาทสำคัญที่ทำให้มาได้รับการรำลึกถึงจนทุกวันนี้ ก็คือการสร้างวิวัฒนาการให้กับดนตรีบลูส์ เพราะนอกจากเป็นหนึ่งในศิลปินรุ่นแรก ๆ ที่ได้บันทึกเสียงงานของตัวเอง มายังสร้างเทคนิคการร้องเพลงที่มีลักษณะเฉพาะตัว ด้วยการร้องราวกับการคร่ำครวญ เต็มไปด้วยอารมณ์จากเบื้องลึก และจากที่ เดอ ลา ครัวซ์ ตั้งข้อสังเกต มาเป็นนักร้องหญิงรายแรกก็ว่าได้ ที่ ‘ขัดเกลา’ เสียงให้สวยน้อยมาก คล้าย ๆ กับนักร้องเพลงบลูส์ชาย ซึ่งเป็นสิ่งที่นักร้องเพลงบลูส์รุ่นหลัง ๆ ใช้เป็นต้นแบบ ทั้งเจนิส จอปลิน (Janis Joplin) และ บอนนี เรต (Bonnie Rait) ก็น่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากมา การแสดงบนเวทีที่ผสมผสานการแสดงหลากหลายรูปแบบ ที่เธอได้พบเห็นในตอนออกทัวร์ ก็สะกดผู้ชมได้อยู่หมัด ล้วนเป็นองค์ประกอบที่ทำให้มาได้ฉายา ‘เจ้าแม่เพลงบลูส์’
โดยเนื้อร้องท่อนหนึ่งในเพลงที่ เมมฟิส มินนี (Memphis Minnie) นักร้องเพลงบลูส์ ร่ำร้องถึงการจากไปของมา สามารถให้นิยามความสำคัญของเธอเอาไว้ได้อย่างชัดเจน